วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

ไปไหว้พระ ในวันที่เบื่อกรุง...^^

เบื่อกรุง !!! ใช้ชีวิตเร่งรีบ หมกมุ่นกับงาน ผจญภัยการการจราจรเมืองหลวงมาร่วมเดือน เริ่มเกิดอาการทนไม่ได้ขึ้นมา ขอออกไปสูดอากาศนอกเมืองหน่อยเถอะ อยากไปไหว้พระเมืองสิงห์บุรี อ่างทอง ก็ไม่แน่ใจเรื่องน้ำท่วม (เดี๋ยวนี้ข่าวเยอะจัด แล้วไม่ค่อยตรงกัน เลยไม่รู้จะเชื่อข่าวไหนดี อิอิ) เลยจบลงที่อยุธยาเจ้าเก่า...ทำตัวเป็นแม่หญิงนกยูงไปได้ ผูกพันกับเมืองเก่านี้จริงหนอ

ตั้งใจว่า วันนี้จะไปวัดที่ไม่เคยไปบ้าง อยุธยามีวัดมากมาย เอาเข้าจริงไปอยู่ไม่กี่วัด ตกลงกันได้ ก็ออกเดินทางตอนสิบโมงกว่าๆ ฟ้าครึ้มๆพอให้หวั่นใจเล็กๆว่า เราจะเจอฝนบ้างมั้ย ขับไปคุยไปเรื่อยๆ ข้างทางบางช่วงเป็นนาข้าวสวยๆ(อีกแล้ว นาข้าวโฟเบีย !!) เริ่มออกรวงแล้วก็มี เริ่มเห็นเป็นแปลงสีเหลือง สลับกับแปลงสีเขียว สวย... ขับมาโผล่แถววัดกษัตราธิราช ข้ามสะพานไปดูเจดีย์พระศรีสุริโยทัย ที่อยู่ริมน้ำก่อน

วันนี้น้ำเต็มตลิ่ง เป็นสีแดง และไหลเชี่ยว ไม่แน่ใจว่าปีนี่น้ำจะท่วมไหม แต่ถ้าฝนตกหนัก แล้วมีน้ำเหนือมา จะให้ระบายไปไหน เมื่อแม่น้ำตอนนี้เปี่ยมขนาดนี้แล้ว

มองข้ามฝั่งมา เห็นวัดกษัตราธิราช ดูขาว สวย สะอาด ปรากฎว่าเพื่อนร่วมทางไม่เคยมา เลยย้อนข้ามสะพานกลับไป วัดนี้..เคยมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม จำได้ว่าโรงเรียนพามาทอดกฐินที่วัดนี้ หลังๆ ก็ผ่านมาเยือนบ้างเป้นครั้งคราว เป้นวัดที่สะอาด ไม่วุ่นวาย มีบริการร่มให้ใช้ระหว่างเดินไปตามจุดต่างๆของวัดด้วย

ที่ศาลาริมน้ำ เคยมาให้อาหารปลา ลมเย็นจนเกือบหลับ แต่วันนี้ ไม่ได้ให้อาหารปลา เพราะน้ำไหลแรงทีเดียว และอากาศอ้าวฝน ร้อนเอาการ

ขากลับตอนเอาร่มมาคืนตรงลานจอดรถ เจอป้ายนี้..สะดุดใจ จนอดถ่ายรูปมาไม่ได้

ท้องเริ่มร้อง เลยแวะทานข้าวที่ร้านวัชราชัย ข้างๆวัดนั่นเสียเลย ร้านนี้ชอบตรงต้นไม้เยอะ ร่มรื่น อาหารอร่อย เจ้าของร้านคือ ภริยาคุณแสงชัย สุนทรวัฒน์งัยคะ คงจะจำคุณแสงชัยกันได้นะคะ

พออิ่ม เราก็มุ่งหน้าจะไปวัดพุทไธศวรรย์ แต่ผ่านวัดไชยวัฒนารามก่อน ก็เลยลงไปชักรูปเป็นที่ระลึกสักหน่อย เขากำลังบูรณะฟื้นฟูความเสียหายจากน้ำท่วมปีที่แล้ว เลยอดเดินเข้าไปดูใกล้ๆ
มองไปทางฝั่งแม่น้ำ เห็นก่อกำแพงสูง หวังว่าปีนี้คงจะไม่ท่วมนะ ระหว่างเดินกลับขึ้นรถ ได้ยินแม่ค้าคุยกันอยู่เรื่องท่วมไม่ท่วมนี่แหละ

และแล้วก็มาถึงวัดพุทไธศวรรย์ แปลกใจว่าไม่เคยมามาก่อน วัดนี้เป็นวัดใหญ่ทีเดียว สร้างมาแต่สมัยอยุธยาตอนต้น สมัยพระเจ้าอู่ทอง และเป็นวัดที่ไม่ได้ถูกทำลายสมัยเสียกรุง จึงยังมีโบราณสถานเหลือให้ชมพอควร เมื่อจอดรถที่ลานจอดรถมองไปเห็นพระปรางค์ ศิลปะแบบขอม เด่นเป็นสง่าอยู่ด้านในของวัด ก็มุ่งตรงไปก่อนเลย

เข้าไปถึงพระปรางค์ ก็เจอพ่อหนุ่มกวักมือชวนไปถวายผ้าห่มองค์พระ ก็เป็นการทำมาหาเลี้ยงชีพของเขา ในการให้บริการ ซึ่งกิริยาอาการเป็นที่รับได้ คือ ไม่เคี่ยวเข็น ไม่เรียกร้อง

พระปรางค์ล้อมรอบด้วยระเบียงคด ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นเรียงราย ความที่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมาเท่าไหร่ ทำให้เราเดินดูเรื่อยๆ รู้สึกถึงความสงบแบบที่ควรจะได้รับเวลาเข้ามาในวัด ?

โดยส่วนตัว ชอบรูปแบบมณฑปสองข้างพระปรางค์ ไม่ทราบเหมือนกันว่าศิลปะสมัยไหน หลังคาสวยดี

ออกนอกบริเวณพระปรางค์ไป เป็นวิหารพระพุทธไสยาสน์ องค์พระยังงามและสมบูรณ์ แต่วิหารพังทลายไปแล้ว คงเหลือผนังด้านเดียว

พระพักตร์ท่านยิ้มเมตตาดีจัง ^^

เราค่อยๆเดินย้อนกลับมา แวะเข้าไปไหว้พระประธานในอุโบสถ แล้วออกไปพระตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ประจำอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระตำหนักนี้เห็นชัดเจนเลยว่าสร้างสมัยอยุธยา เพราะมีลักษณะที่เรียกว่า "ตกท้องช้าง" พระตำหนักเป็นอาคารปูน 2 ชั้น อยู่ในสภาพค่อนข้างทรุดโทรม เปิดให้ขึ้นไปชมชั้น 2 เวลาจะเดินขึ้น เบาๆกันหน่อยนะคะ เพราะบันไดไม้ที่ทอดไปยังชั้น 2 ก็เก่าแล้ว และโยกหน่อยๆ ขึ้นไปแล้วเสียวกลัวจะทำบันไดเขาพังอะ

ภายในผนังชั้น 2 ของพระตำหนัก มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง แต่อยู่ในสภาพลบเลือนไปเกือบหมดแล้ว เป็นที่น่าเสียดายมาก มีภาพสีเกี่ยวกับเรื่องหมู่เทวดา นักพรต นมัสการพระพุทธบาท และเรือสำเภาตอนพระพุทธโฆษาจารย์ไปลังกา


ซ้าง ม้า วัว ควาย ^^

ระหว่างชมพระตำหนัก มีเสียงซอบรรเลงกล่อมบรรยากาศด้วย โดยน้องน้อยหน้าตาน่าเอ็นดู แต่งชุดไทยมาหาทุนการศึกษา แต่ป้าว่า หนูสีอยู่ท่อนเดียวหรือเปล่าคะ ว่าจะถามแล้วเชียวว่า ครูเพิ่งต่อให้ท่อนเดียวหรืออย่างไรจ๊ะ

จากพระตำหนัก เดินมาทางริมน้ำ ที่วัดมีรูปปั้น 4 รูป ให้สักการะ คือ รูปปั้นพระเจ้าอู่ทองที่สถาปนาวัดนี้ขึ้น สมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระเอกาทศรถ กับอีกองค์หนึ่งจำไม่ได้แล้ว บังเอิญไม่ได้ถ่ายรูปมา นึกไม่ออก
ก่อนจะออกจากวัด มานั่งพักกันที่ศาลาริมน้ำ แหม...ลมเย็น จนเกือบจะหลับทีเดียว ^^

เราไหว้พระได้ 2 วัดแล้ว คือที่วัดกษัตรา กับวัดพุทไธศวรรย์ (เพราะวัดไชยวัฒนารามไม่ได้ไหว้) ควรจะต้องไหว้อีกสักวัด เห็นป้ายวัดนางกุยอยู่อีกไม่ไกล ไปกันหน่อยดีไหม ไปกราบหลวงพ่อยิ้มกัน

วัดนางกุยนี้ เขาว่ามีอายุกว่า 400 ปีแล้วนะคะ แต่เราเข้ามาในวัด ไม่ได้เห็นโบราณสถานอะไรมากนัก ได้ความว่า วัดเสียหายมากจากเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เราเข้าไปจอดรถ แล้วมองซ้ายมองขวาจะไปตรงไหนล่ะ ก็เห็นเขาทำระดับน้ำไว้ที่ผนังอาคาร เข้าไปลองวัดดู

แม่เจ้า...น้ำท่วมปีที่แล้ว ท่วมสูงสุดมือเอื้อมทีเดียว เฮ้ออออ

เดินมาทางโบสถ์ ก็เจอพระท่านชี้บอกให้เข้าไปไหว้หลวงพ่อยิ้มในโบสถ์ก่อนนะ เสร็จแล้วออกไปทางโน้นนะ ...ค่ะท่าน ขอบพระคุณค่า..
จุดธูปเทียนกราบพระเสร็จแล้ว เข้าไปในโบสถ์ กราบพระประธานแล้ว นั่งมองว่า..ในหมู่นั้น องค์ไหนล่ะ หลวงพ่อยิ้ม มีองค์นึงดูจะยิ้มมากกว่าองค์อื่น แต่ไม่แน่ใจ ถามหลวงพี่ที่นั่งอ่านหนังสืออยู่ในโบสถ์ ท่านหัวเราะ ไม่ใช่หรอกโยม หลวงพ่อยิ้ม คือองค์ที่เป็นไม้สักอยู่ในตู้กระจก ด้านขวาขององค์พระประธานต่างหาก

เข้าไปกราบท่านใกล้ๆ มองแล้ว ก็กราบขอพรให้ชีวิตมีแต่รอยยิ้มแบบท่านบ้าง

ออกมา หลวงพี่(น่าจะต้องเรียกหลวงน้อง)ยืนคอยอยู่ ท่านชี้ให้ดูต้นสาละ ซึ่งกำลังออกลูกเต็ม ปกติเคยเห็นแต่ดอก เพิ่งเห็นลูกวันนี้แหละ แข็งๆสีน้ำตาล ลูกขนาดเกือบๆส้มโอ ถามท่านว่าข้างในเป็นอย่างไร ท่านว่าเหมือนมะขวิด เราก็ไม่รู้ว่ามะขวิดหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ท่านบอกมาเสียก่อนว่า กลิ่นเหลือทนทีเดียว เหม็นมากกก เลยเก็บความอยากรู้ไว้เท่านั้น

ท่านพามาดูที่ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง เดิมบริเวณนี้ เป็นที่ยืนต้นของต้นตะเคียนใหญ่ ขนาดโคนโดยรอบประมาณ 9 เมตร แต่แล้วประมาณปี 2540 ต้นตะเคียนนั้นได้ตายลง จึงตัดต้นเหลือไว้แต่โคนให้เห็น แล้วนำไม้ส่วนหนึ่งไปแกะสลักเป็นเจ้าแม่ตะเคียนทองให้คนสักการะกัน

แล้วท่านยังเล่าเรื่องหลวงพ่อยิ้มให้ฟังว่า เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่แกะสลักจากไม้สักทองและลงรักปิดทองสวยงาม เป็นพระเก่าแก่อยู่คู่กับวัดมาช้านาน จากคำบอกกล่าวเล่าขานของคนเก่าแก่ว่า สมัยก่อน หลวงพ่อยิ้มได้ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยามาติดอยู่บริเวณหน้าวัด ทางเจ้าอาวาสและชาวบ้านได้อัญเชิญหลวงพ่อยิ้มไปประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดนางกุย แล้วในวัดยังมีพระพุทธรูปโบราณ เก่าแก่มากอีกหลายองค์

เป็นอันว่า..วันนี้ได้ไหว้พระ 3 วัด ตามมาตรฐานของคนขาสั้น 5555  ไหว้เสร็จก็เย็นแล้ว ถึงเวลากลับบ้าน แต่จะไม่มีอะไรติดมือมาฝากคนทางบ้านก็กระไรอยู่ เลยแวะที่ "อยุธยา พาวิลเลียน"  ซื้อข้าว(ข้าวจริงๆค่ะ ข้าวภัทรพัฒน์ และข้าวกล้องต่างๆ) ซื้อขนม
ที่นี่...เจอไอติมอร่อยค่ะ ไม่แพงด้วย 3 ลูก 20 บาท ถ้าผ่านไป ลองชิมกันดูนะคะ


แค่ได้ออกมานอกเมืองสักหน่อย ก็มีความสุขแล้ว ความสุขง่ายๆใกล้ๆตัว ^____^

วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ไปทุ่งดอกกระเจียวกันเถอะ...๓

และแล้วเราก็กลับมาฝากท้องกับร้านลุงหนวดอีกรอบ เพราะติดใจปลาสดๆของลุง มื้อนี้เรากิน..ต้มยำปลาเทโพ  ปลาคังลวกจิ้ม กระเพราปลา.. ส่วนตัวติดใจกระเพราปลามาก รสถูกปากทีเดียว กินเสร็จแล้ว ถึงนึกขึ้นได้ว่า ลืมถ่ายรูปมาฝาก ๕๕๕๕  ถ้าใครมีโอกาสผ่านไป ลองแวะชิมดูนะคะ เผื่อจะถูกปาก
ร้านลุงหนวดอยู่บนเส้น ๒๓๕๔ ที่จะเข้าสู่ทุ่งกระเจียว จากปากทางเข้ามาประมาณ ๕ กม. ถ้าเป็นช่วงวีคเอนด์ โทร.จองสักนิดก็ดีค่ะ ๐๘๐ ๑๕๘ ๐๒๘๘ / ๐๘๙ ๒๓๘ ๐๘๖๒ เพราะมักจะเต็ม
ที่ร้านลุงมีกฏเหล็กคือ ทำตามคิว ไม่มีการแซงคิว และ ห้ามเร่งอาหาร

อิ่มแล้ว เราก็ออกเดินทาง โดยเลี้ยวซ้ายเข้าเส้น ๒๐๕ ตรงยาวโลดเข้าโคราชเพื่อไปแวะหาเพื่อน เจอฝนตกหนักเป็นช่วงๆ ก็ดีนะคะ เขาให้เราเที่ยวตอนเช้า พอบ่ายเดินทาง เขาถึงค่อยตก
ถึงโคราช แวะคุยและขอแผนที่จุดต่างๆในเมืองบุรีรัมย์ได้เรียบร้อย ก็ออกเดินทางมุ่งหน้าไปบุรีรัมย์ โดยใช้เส้นทาง ๒๒๖ ฝนตกอีกแล้ว หนักด้วย โอ๊ย...เครียด จะไปทันได้กินเต้าส่วนมั้ยนี่ ๕๕๕๕

ฝนตกหนักมาก และเป็นถนน ๒ เลนวิ่งสวนกัน โค้งไปโค้งมา ก็ออกจะเกร็ง นึกถึงตอนไประยองคนเดียวเมื่อวันก่อนขึ้นมาจึงสวดมนต์บูชาหลวงปู่ทวด วัดช้างไห้ในใจ ขอท่านได้โปรดคุ้มครองด้วย แล้วเล่าให้พี่ชายฟังว่า วันก่อนไประยองคนเดียว ฝนตกหนักแบบเนี้ย ฉันสวดขอให้หลวงปู่ทวดคุ้มครอง สักพักจากที่อยู่ใต้ฟ้ามืดๆฝนตกหนักมองไม่เห็นทาง กลายเป็นฝนซาฟ้าใส
ไม่อยากจะคิดมากเลย แต่..พอเล่าเสร็จ ฝนก็เริ่มซา...
( โปรดใช้วิจารณญาณในการรับฟังด้วยค่ะ แต่นี่คือศรัทธาของเราเป็นการส่วนตัว ใครจะเชื่อหรือไม่ ก็แล้วแต่นะคะ )

จนกระทั่งใกล้จะถึงบุรีรัมย์ ฝนก็หยุด..บอกแล้ว เขารู้งาน เขาตกตอนเราต้องอยู่ในรถ :)
ไม่ได้มาบุรีรัมย์สัก ๓-๔ ปีแล้วมั้ง รู้สึกว่าถนนดีขึ้นเยอะ โดยเฉพาะเมื่อใกล้จะถึงอ.เมือง เลยแอบคิดเล่นๆว่า เมืองที่มีนักการเมืองใหญ่ๆนี่ ถนนดีเหมือนกันหมดเลยนะ แต่ที่นี่ยังสู้บอหอบุรีไม่ได้ ที่เมืองนั้น นอกจากจะถนนดีแล้ว ต้นไม้เขายังตัดเป็นระเบียบเป๊ะๆ ใครผ่านไปลองดูนะคะ เขาตัดต้นสนเป็นพุ่มยอดแหลมเท่าๆกันทุกต้นเลย

เราเข้าเมืองแล้วตรงไปตลาดอาหารแถวๆเทศบาลก่อนเลย เพื่อไปกินเต้าส่วนเจ้ตุ่ม เพราะพอทุ่มนึงเขาก็จะหมดแล้ว ปกติไม่ได้ชอบกินเต้าส่วน เพราะมันจะยืดๆเหนียวๆ แต่เต้าส่วนเจ้ตุ่มนี่ ไม่เหนียวไม่ข้น กำลังดี ถั่วเคี่ยวเปื่อย กระทิออกเค็ม อร่อยดี ได้กินหนนึงติดใจอยากกินมาหลายปี แต่ไม่มีโอกาสมาบุรีรัมย์สักที ครั้งนี้ โชคดีได้กินครบเครื่องด้วย คือผู้แนะนำสั่งให้ลองกินคู่กับปาท่องโก๋ ซึ่งวันนี้เขาก็ขายด้วย ขายอยู่ใกล้ๆกันแหละค่ะ
เต้าส่วนเจ้ตุ่มนี่ ถ้วยละ ๑๕ บาทนะคะ ไม่ขายวันพระ กับวันอาทิตย์ ส่วนปาท่องโก๋ตัวละ ๓ บาท มีสังขยา กับนมข้มหวานใส่ถ้วยขายด้วย บริการพร้อมทีเดียว


อร่อยดีค่ะ ปาท่องโก๋เปล่าๆก็อร่อยแล้ว เขาทอดได้กรอบนอกนุ่มในทีเดียว..  อิ่มเลย เต้าส่วน ๑ ถ้วย ปาท่องโก๋ ๒ คู่ เดินยิ้มขึ้นรถไปโรงแรมได้เลย

ครั้งนี้จองจินตนา รีสอร์ทไว้ อยู่กลางเมือง ที่จองเป็น studio villa ดูจากในเน็ตว่าใหม่ดี ห้องกว้างขวาง สะอาด แต่ห้องน้ำมีกลิ่นอับ ไม่ทันได้ถามว่าอีกห้องเป็นหรือเปล่า บรรยากาศโดยรวมใช้ได้ ตรงกลางรีสอร์ท มีบ่อน้ำและน้ำพุ ตอนไปถึงลมพัดเย็นเชียว


แยกย้ายกันเข้าห้อง นัดกันว่าสักสองทุ่มค่อยออกไปหาอะรัยทานกัน มีลายแทงร้านอาหารอยู่ในมือแล้ว ^^ แต่พอสองทุ่มครึ่งคุยกัน เลยได้รู้ว่าพี่ท่านหลับไปแล้ว ถ้างั้นนอนต่อไปเลยละกัน ๕๕๕ ... แต่ถ้าใครจะไปบุรีรัมย์ ก็เชิญนะคะ ข้าวต้ม ๓๕๗(อยู่ไม่ไกลจากตลาดเทศบาลที่เราทานเต้าส่วนค่ะ) กับจิ้มจุ่มปายมิลค์ (อยู่หน้าซอยจินตนารีสอร์ท) หรือ ข้าวต้มตี๋ ภาค๒ ที่จริงมีร้านพิซซา แบบแป้งบางกรอบด้วยนะคะ แต่จำไม่ได้แล้วว่าอยู่ตรงไหน :)

นัดกันว่า จะตื่นแต่เช้าจะได้รีบไปปราสาทพนมรุ้ง ตอนแสงแดดสวยๆ แต่พอโผล่จากห้องมา ๗ โมงเช้า แดดจ้าเชียว (ต่างจากเมื่อวานลิบลับ) เลยรีบออกว่าจะไปหาอาหารเช้าแถวประโคนชัย
ทางออกจากเมือง เจออนุสาวรีย์ช้าง(คำเรียกของชาวบ้าน) หรือ พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๑ นึกไม่ออกว่าท่านทรงมาทำอะไรที่เมืองนี้ สงสัยมากจนต้องกลับมาหาข้อมูล ถึงได้รู้ว่า

"ประวัติความเป็นมาของจังหวัดบุรีรัมย์ ถือกำเนิดเมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ดำรงตำแหน่ง เจ้าพระยาจักรี ในแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยในปี พ.ศ. 2319 เจ้าพระยาจักรี ได้รับพระบรมราชโองการฯ ให้ยกทัพขึ้นมาปราบ “กบฏพระยานางรอง” ครั้นเสร็จศึกจึงยกทัพกลับและได้พบกับเมืองร้างซึ่งมีชัยภูมิที่ดี จึงรวบรวมผู้คนก่อตั้งเมืองขึ้นโดยให้ชื่อว่า “เมืองแปะ” ก่อนจะเปลี่ยนเป็น "เมืองบุรีรัมย์” ในกาลต่อมา  "
( จาก http://www.oknation.net/blog/Anti-Corruption/2007/05/22/entry-2 )
เรื่องพระบรมราชานุสาวรีย์นี้ มีประเด็นต่างๆอีกมาก ถ้าสนใจลองไปตามอ่านกันเองแล้วกันนะคะ
(ภาพจาก OK Nation)

เลยจากตรงนี้ไป จะผ่านสนามฟุตบอลใหญ่ I-Mobile Stadium ของทีมบุรีรัมย์ PEA  มูลค่าก่อสร้างหลายร้อยล้านบาท จุผู้ชมได้ถึง ๒๔,๐๐๐ คน ก็ต้องชักรูปเป็นที่ระลึกกันหน่อย ^^


จากตัวเมืองตรงเข้าอ.ประโคนชัย ถนนตรงๆเลยค่ะ แล้วค่อยไปเลี้ยวขวาขึ้นเขาพนมรุ้ง ก่อนจะถึง ผ่านทางแนกไปปราสาทเมืองต่ำด้วย ถ้าใครยังไม่เคยมา แนะนำให้แวะเที่ยวด้วยนะคะ  แต่ครั้งนี้ เราตั้งใจจะไปพนมรุ้ง จึงผ่านไปก่อน
เป็นครั้งแรกที่ขับรถมาเอง จึงเพิ่งรู้สึกว่าขึ้นเขาสูง แต่ขึ้นทางอ.ประโคนชัยนี้ ไม่ค่อยชันเท่าไร เคยมาปราสาทพนมรุ้งนี้หลายครั้ง ตั้งแต่ยังไม่บูรณะ เริ่มบูรณะ จนกระทั่งบูรณะเสร็จ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ต้องเดินขึ้นมาเป็นระยะทางไกลมาก..สำหรับป้า ^^ เพราะเคยเอารถขึ้นมาได้ถึงบริเวณใกล้ๆ"ทางดำเนิน" ที่มีเสานางเรียงน่ะค่ะ แต่ตอนนี้เขาให้จอดรถข้างล่างแล้วเดินขึ้นมาอะ


ปราสาทเขาพนมรุ้ง เป็นศาสนสถาน ในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย คือ นับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุดดังนั้น เขาพนมรุ้งจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสที่ประทับของพระศิวะ  สร้างอยู่บนยอดภูเขาไฟ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๘ คือ มีการก่อสร้างเพิ่มเติมต่อมากันมาเรื่อยๆ ดูได้จากวัสดุที่ใช้ในกรก่อสร้าง และ ศิลปะการแกะสลักหินที่แตกต่างกัน บ่งบอกถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
ผังของปราสาทหิน ส่วนใหญ่มักจะคล้ายๆกัน คือมีองค์ปราสาทประธาน ที่มักจะหันหน้าไปทิศตะวันออก มีระเบียงคตรอบองค์ปราสาท และทางเดินตรงเข้าสู่องค์ปราสาท มักมีเสานางเรียงประดับอยู่ (บางที เห็นเรียกเสานางจรัญ)


พักเหนื่อย...  :p

ถึงแว้วววว

ใกล้เข้าไปอีกนิดนะ


ปราสาทเขาพนมรุ้งนี้ องค์ปราสาทประธาน ก่อด้วยหินทรายสีชมพู มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ด้านหน้าทำเป็นมณฑปโดยมีฉนวนเชื่อมปราสาทประธาน


ที่ซุ้มประตูแต่ละทิศนั้น จะมีภาพจำหลักแสดงเรื่องราวต่างๆในศาสนาฮินดู โดยที่มีชื่อที่สุด คือด้านทิศตะวันออก ที่เป็นด้านหน้า มีหน้าบันแกะสลักเป็นรูป ศิวนาฎราช และ ทับหลังรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์

หน้าบัน"ศิวนาฏราช"

ตามความเชื่อถือศรัทธาของชาวไศวนิกาย ศิวเทพทรงเป็นตัวแทนของธรรมชาติที่หลากหลายตามแต่ลีลาของจินตนาการจะเสกสรรค์ปั้นแต่ง การร่ายรำเป็นเพียงธรรมชาติด้านหนึ่งของพระองค์ หากทรงร่ายรำด้วยท่วงทำนองที่เป็นปกติ ก็เพื่อการหมุนเวียนแปรเปลี่ยนของจักรวาล แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่พระองค์ทรงร่ายรำด้วยจังหวะที่ร้อนแรง ก็แปลว่าถึงเวลาแล้วที่จักรวาลกำลังจะถึงกาลอวสาน



ทับหลัง "นารายณ์บรรทมสินธุ์"
ทับหลังคืออะไร ?  คือ..หินชิ้นสี่เหลี่ยมที่วางอยู่เหนือเสาประตูน่ะค่ะ 
คงจะจำกันได้นะคะ...เอาไมเคิล แจ๊คสันคืนไป เอาพระนารายณ์คืนมาๆๆๆ... เขาพูดถึงทับหลังชิ้นนี้แหละค่ะ โปรดสังเกตด้วย ของแท้พระนารายณ์จะต้องถูกยิงที่ไหล่ซ้าย เราได้ทับหลังนี้ คืนมาจากอเมริกาปี ๒๕๓๑ ค่ะ ทันเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พอดี


"ที่ทับหลังของมณฑปด้านทิศตะวันออกปราสาทประธาน เป็นภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ โดยพระนารายณ์บรรทมตะแคงขวา เหนือ พระยาอนันตนาคราช ซึ่งทอดตัวอยุ่เหนือมังกรอีกต่อหนึ่งท่ามกลางเกษียรสมุทรมีก้านดอกบัวผุด ขึ้นจากพระนาภีของพระองค์ มีพระพรหมประอยู่เหนือดอก บัวนั้น พระนารายณ์ทรงถือ คฑา สังข์ และจักรไว้ในพระหัตถ์หน้าซ้าย พระหัตถ์หลังซ้ายและพระหัตถ์หลังด้านขวา ตามลำดับ ส่วนพระหัตถ์หน้า ขวา รอบรับพระเศียรของพระองค์เองทรงมงกุฏรูปกรวยกภณฑล กรองศอ และทรงผ้าจีบเป็นริ้ว มีชายผ้ารูปหาปลาซ้อนกันอยู่ 2 ชั้นด้านหน้าคาดด้วย สายรัดพระองค์ มีอุบะขนาดสั้นห้อยประดับมีปพระลักษณมีชายาพระองค์ประทับนั้นอยู่ตรงปลายพระบาท
สำหรับพระพรหม ซึ่งประทับเหนือดอกบัวนั้น มีสี่พักตร์ สี่กร ถัดจากองค์พระนารายณ์มาทางซ้ายบริเวณเลี้ยวของทับหลัง มีรูปหน้ากาลคายพวงอุบะขนาดใหญ่ เหนือหน้ากาลมีรูปครุฑ ใช้มือยึดนาคไว้ข้างละต้นนอกจากนี้ยังปรากฏรูปสัตว์อื่น ๆ ได้แก่ นกแก้ว ลิง และนกหัสดีลิงก์คาบช้างอยู่ด้วย
การบรรทมสินธุ์ของพระนารายณ์นั้น คือ การบรรทมในช่วงการสร้างโลก การบรรทมแต่ละครั้งนั้น จะเกี่ยวกับยุคเวลาในแต่ละกัลป์ภาพทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่ปราสาทพนมรุ้งนี้ คงได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์วราหปุราณะ เป็นคัมภีร์ที่ให้ความสำคัญแก่ พระนารายณ์เป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ในขณะที่พระนารายณ์ กำลังบรรทมอยู่นั้น ได้ทรางสุบินขึ้นจากพระนาภี บนดอกบัวได้บังเกิดพระพรหม และพระพรหมทรงเป็นผู้สร้างมนุษย์ และสิ่งต่าง ๆ"

ที่ตรงกลางปราสาท เป็นห้องประดิษฐานศิวลึงค์ ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ แต่สูญหายไปแล้วนะคะ คงเหลือให้เห็นแต่รางน้ำที่ต่อมาจากข้างในห้อง คือเขาไว้รองรับน้ำมนต์ที่สรงสักการะศิวลึงค์น่ะค่ะ
เวลาเดินดูปราสาทหิน ถ้ามีคนที่รู้ประวัติศาสตร์ศิลป์ไปด้วย จะดีมากเลยค่ะ เพราะเราจะได้ฟังนิทานสนุกๆ เกร็ดของภาพแกะสลักต่างๆ ทั้งในหน้าบัน ทับหลัง รวมไปถึงมุมเล็กมุมน้อยแบบนี้ด้วย


แม้นาคพวกนี้ ก็ยังมีเกร็ดล่ะค่ะ ว่าแต่ละสมัยนาคจะมีลักษณะแตกต่างกันไป เช่น นาคหัวโล้นหน้าเหมือนหมู เป็นนาคยุคโบราณ ถ้ามีหงอนมีรัศมี ก็เป็นยุคใหม่ขึ้นมา อะไรทำนองนี้ แต่ตอนนี้ จำไม่ค่อยได้แล้วอะ ^^



และปราสาทหินส่วนมากจะมีสระน้ำ เขาว่าไว้เป็นที่ชำระล้างร่างกายให้สะอาด ก่อนที่จะเข้าศาสนสถาน สำหรับพวกเราในสมัยนี้ อย่าลืมที่จะถ่ายเงาสะท้อนของปราสาทในน้ำนะคะ 


วันที่เราไปนี่ มีเด็กๆมาทัศนศึกษาด้วยค่ะ ได้ยินเสียงตอบคำถามวิทยากรแจ๋วๆ น่ารักเชียว ชอบจริงๆกับการที่ให้เด็กๆได้ออกมาสัมผัสของจริงแบบนี้ แล้วคุณครูยังมีการบ้านด้วยนะคะ ให้วาดภาพปราสาทส่งครู

แล้วยังมีพิธีการบวงสรวงอะไรสักอย่าง เราเลยได้มีโอกาสดูนางรำฟ้อนสวยๆด้วย


มีเรื่องสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง ว่าเวลาเราไปเที่ยวพวกเสาหิน ปราสาทหินทางอีสาน มักจะเจอคนเอาก้อนหินมาเรียงซ้อนกันเป็นเหมือนเจดีย์อะค่ะ ไม่ทราบว่า เป็นคตินิยมว่ากระไร ใครทราบ วานบอกทีเถอะค่ะ

จบแล้วล่ะค่ะ ทริปนี้ ^^  สองวันนี้เดินจนปวดขาไปหมดแล้ว โดนทับถมอีกด้วยว่า ไม่รู้จักออกกำลัง  :(

ปิดท้ายให้สมบูรณ์ด้วย Rib Eye Steak จาก Rex's Steak ปากช่องค่า.. เล่นเอาแทบลืมตาไม่ขึ้นเลยเชียว ^_____^


หมายเหตุ : ข้อมูลบางส่วนจากวิกิพีเดีย / www.oceansmile.com / เกร็ดเล็กๆที่ติดอยู่ในความจำตอนไปอบรมมัคคุเทศก์ เมื่อหลายสิบปีก่อน ^^